top of page
Search
  • Dujpetch

มาเรียม ดุหยงน้อยสู่ความหวังพะยูนไทย

ช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทีมงานศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน จังหวัดภูเก็ต ได้รับรายงานลูกพะยูนเข้ามาเกยตื้นที่จังหวัดกระบี่ หลังประเมินสถานการณ์อย่างรอบคอบ นักวิชาการตัดสินใจเคลื่อนย้ายลูกพะยูนตัวดังกล่าวไปอนุบาลในแหล่งอาศัยตามธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดของพะยูนในจังหวัดตรัง เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกพะยูนซึ่งได้รับการตั้งชื่อว่า  มาเรียม ได้มีโอกาสกลับไปใช้ชีวิตตามธรรมชาติอีกครั้ง

การดูแลอนุบาล “มาเรียม” ถือเป็นภารกิจดูแลลูกพะยูนในถิ่นอาศัยตามธรรมชาติครั้งแรกของประเทศไทย ซึ่งเป็นงานที่ต้องอาศัยความทุ่มเท ความชำนาญ และความร่วมมือของทุกฝ่าย มาเรียมไม่เพียงเป็นศูนย์รวมใจของนักวิชาการ ชาวบ้านและอาสาสมัครจากทุกแห่งหน แต่ยังกลายเป็นความหวังสำคัญในการจัดการอนุรักษ์ถิ่นอาศัยของพะยูนไทยในระยะยาว


ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน จังหวัดภูเก็ต เล่าว่า ได้รับรายงานการเกยตื้นของมาเรียมตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2562 บริเวณแหล่งหญ้าทะเลอ่าวทึงปอดะ จังหวัดกระบี่ ในสภาพร่างกายที่สมบูรณ์ ภายนอกไม่มีรอยบาดแผล และสามารถว่ายน้ำได้เป็นปกติ

อย่างไรก็ตาม หลังจากชาวบ้านอุ้มไปปล่อยบริเวณที่น้ำทะเลท่วมถึงแล้ว วันต่อมากลับพบว่า มาเรียมยังว่ายวนเวียนอยู่บริเวณใต้ท้องเรือหางยาวและเรือคายักบริเวณปากคลอง ใกล้กับที่พบเกยตื้นครั้งแรก คราวนี้เจ้าหน้าที่เข้ามาร่วมทำการช่วยเหลือด้วย โดยนำไปปล่อยบริเวณแหล่งหญ้าหน้าอ่าวทึงปอดะเช่นเดิมและเฝ้าสังเกตอยู่ห่างๆ ปรากฏว่ามาเรียมหายไปหนึ่งวันก่อนพบว่า กลับมาว่ายวนเวียนอยู่ในบริเวณเรืออีก แสดงว่าพะยูนน้อยพลัดหลงกับแม่พะยูนแล้วจริงๆ

“ถึงตอนนั้นเราต้องตัดสินใจแล้วว่าจะทำยังไงดี เพราะถ้าปล่อยที่เดิมอีก มาเรียมมีโอกาสถูกเรือชน หรือได้รับบาดเจ็บจากการถูกใบพัดเรือได้ง่ายๆ เพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่สัญจรเข้า-ออกของเรือประมง แต่หากนำไปอนุบาลในบ่อเลี้ยงที่ภูเก็ต แม้ว่าจะเป็นทางเลือกที่ดีในการรักษาชีวิต แต่คิดดูแล้วก็เป็นเรื่องโหดร้ายเกินไปที่มาเรียมอาจจะต้องอยู่ในบ่อไปตลอดชีวิต”

ดร. ก้องเกียรติ บอกว่า โดยปกติลูกพะยูนในวัยนี้จำเป็นต้องอยู่กับแม่เพื่อได้รับน้ำนมและเรียนรู้ประสบการณ์การใช้ชีวิต ส่วนใหญ่ลูกพะยูนวัยเด็กขนาดนี้ที่กำพร้าแม่มักจะเสียชีวิต ในประเทศไทยเคยมีความพยายามช่วยชีวิตลูกพะยูนเกยตื้นหรือได้รับบาดเจ็บจากเครื่องมือประมงด้วยการนำไปอนุบาลในบ่อเลี้ยงครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2522 แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ได้ไม่นาน นานที่สุดคือ 200 วันเมื่อปี พ.ศ. 2534

“เป็นเรื่องยากทีเดียวที่เราต้องเป็นคนเลือกเส้นทางชีวิตให้มาเรียม แต่เราคิดว่าการมีชีวิตอย่างมีคุณภาพเป็นเรื่องสำคัญกว่าการมีชีวิตรอดในบ่อเลี้ยง เราจึงตัดสินใจเคลื่อนย้ายมาเรียมเมื่อวันที่ 29 เมษายนมาปล่อยบริเวณอ่าวทุ่งคา เกาะลิบง ซึ่งเป็นแหล่งหญ้าทะเลขนาดใหญ่และมีพะยูนมากกว่าร้อยตัว”



7 views0 comments

Comments


bottom of page